วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รุ่นพี่สถาปัตย์ ลาดกะบัง

        วันที่  7  ตุลาคม 2553  เวลา 19.00 น.  ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์รุ่นพี่ลาดกะบัง ตาม assignment ที่ได้รับมอบหมายมา ซึ่งจากการเสาะแสวงหารุ่นพี่สถาปนิกดังกล่าวจากหลายๆแหล่ง จึงได้รุ่นพี่ที่จะสัมภาษณ์ ซึ่งพี่เค้านัดที่ สนามฟุตบอลหญ้าเทียมหลังโรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อไปถึงก็มีรุ่นพี่สถาปนิกอีกหลายคนมาก ซึ่งพี่เค้าจะนัดกันมาเล่นประจำทุกอาทิตย์อยู่แล้ว จากนั้นก็ไม่รอช้า เริ่มบทสัมภาษณ์ทันทีเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา


ประวัติส่วนตัวโดยย่อ
ชื่อ  สมชาย  แสนสุขเจริญผล     ชื่อเล่น  (พี่) ชาย   เกิดวันที่ 25 มกราคม 2515
จบการศึกษาปี 2539  ( ปีเข้าเรียน 2534 )  ปัจจุบันอาศัยอยู่ ย่านฝั่งธน และ ทำอาชีพ สถาปนิก อยู่แต่ทำแบบส่วนตัว (freelance) ซึ่งก่อนหน้าที่นี้พี่ชายก็ได้ผ่านการทำงานในออฟฟิศมาด้วย โดยออฟฟิศที่พี่ชายได้เข้าไปทำงานก็มี
- บุนนาค architect   โดยทำงานอยู่ 2 ปี
- ออฟฟิศเล็กๆของรุ่นพี่ที่รู้จักกัน   โดยทำงานอยู่ 5 ปี จากนั้นทางออฟฟิศได้ส่งตัวไปทำงานเป็นสถาปนิกประจำไซท์งานที่ ภูฏาน อีกเป็นเวลา 9 เดือน  ซึ่งทำงานร่วมกับออฟฟิศสิงคโปร์
ซึ่งจากกลับมานั้นพี่ชายก็ได้ออกมาเป็น freelance รับงานออกแบบจนถึงปัจจุบัน

ผลงานต่างๆที่ผ่านมาของพี่ชายนั้นครั้งเมื่อตอนอยู่ออฟฟิศก็ได้มีโอกาสออกแบบ โรงแรม บ้านพักอาศัย คุมไซท์ที่ภูฏาน  ซึ่งพี่ชายบอกว่าส่วนมากออฟฟิศที่อยู่นั้นส่วนใหญ่ออกแบบโรงแรม ซึ่งโรงแรมที่พี่เค้าได้ร่วมออกแบบจนแล้วเสร็จคือ โรงแรมพาวิลเลี่ยน เกาะสมุย

โรงแรมพาวิลเลี่ยน เกาะสมุย   
ณ ปัจจุบันพี่ชายได้รับงานออกแบบและกำลังอยู่ในช่วงทำแบบอยู่คือ บ้านดินสอ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระหว่างนี้พี่ชายก็ได้รับงานออกแบบภายในด้วย

อุปสรรคในการทำงานที่พี่ชายได้บอกมาส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าบริการวิชาชีพ ซึ่งตามเก็บได้ยาก  และยังมีเจอผู้รับเหมาที่วางผังผิดต้องคอยตามแก้ไข อีกทั้งยังเจอกับวิกฤตของเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 41 จึงต้องโดน lay off จากออฟฟิศบุนนาค ทำให้ช่วงนั้นมีงานน้อย

ข้อคิดสำคัญในการทำงานของพี่ชายคือ ทำงานทุกอย่างอย่างเต็มที่ ตั้งใจทำให้ดีที่สุด เมื่อทำออกมาด้วยความตั้งใจทำและเต็มที่ งานนั้นจะสามารถตอบได้ทุกอย่าง ตัวผลงานที่ออกมานั้น เป็นสิ่งที่วัดตัวเรา หากว่างานเราดี ตัวเราก็ดีไปด้วย  และพี่ชายยังบอกถึงเรื่องการเสนองานต่อลูกค้า ว่าเราควรเสนองานให้ลูกค้าเห็นในสิ่งที่ถูกต้องและสวยงาม ทำงานตามความตั้งใจของลูกค้าแต่ต้องอยู่บนฐานของความถูกต้อง เหมาะสมและสวยงาม 

ความคิดเห็นในส่วนของเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพนั้น พี่ชายไม่บอกอะไรมากเพียงแต่บอกว่า จรรยาบรรณที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องกำหนดขึ้นมาก็ได้ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่กำหนดมานั้นจะทำได้จริงหรือไม่ แท้จริงแล้วจรรยาบรรณมันอยู่ในจิตสำนึกของตัวคนอยู่แล้ว 

ในส่วนของเรื่องการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น พี่ชายบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีในปัจจุบัน แต่มันมีหลายด้านที่จะต้องใช้เหตุผลหลายเหตุผลในการตัดสินควบคู่กันไป บางอย่างอะไรควรพอดีบางอย่างอะไรต้องมากต้องน้อย ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายๆอย่าง เพื่อให้งานที่ออกมาลงตัว 

        เมื่อจบบทสัมภาษณ์ก็ได้แลกอีเมลล์กัน จากนั้นพี่เค้าก็ไปเล่นบอลส่วนผมก็นั่งดูสักพักพูดคุยกับรุ่นพี่คนอื่นๆนิดหน่อย แล้วก็กลับ 

 
          ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณพี่ชายมากๆครับ ที่สละเวลามาพูดคุยกับน้อง สิ่งที่พี่บอกทุกอย่างมีประโยชน์มากๆครับ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ชุมชนตลาดคลองสวน


        
         ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ เป็นตลาดเก่าแก่ ตั้งสมัยรัชกาลที่ ๕  “คลองสวน” เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ในการเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ามากรุงเทพฯ  ซึ่งในอดีตการเดินทางโดยเรือจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด  หากต้องการเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพฯ จะต้องใช้เรือเมล์ขาวของนายเลิศ ซึ่งมีอยู่เพียงลำเดียว  โดยรับคนจากประตูน้ำท่าถั่ว  จังหวัดฉะเชิงเทรา  ผ่านตลาดคลองสวน เข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพฯ  ด้วยเหตุนี้ ตลาดคลองสวนจึงเป็นจุดแวะพัก และเป็นศูนย์รวมของชุมชน  โดยเห็นได้จาก สิ่งก่อสร้างต่างๆ  เช่น โรงเจ  วัด  และสุเหร่า ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยจีน  ไทยพุทธ  และไทยมุสลิม  อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน  เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม  ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน  วิถีชีวิตของชาวคลองสวนจึงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและตลาดแห่งนี้ยังเป็นจุดนัดพบของผู้คนต่างๆ เข้ามานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด  ทัศนคติ  หรือประสบการณ์ชีวิต  โดยเฉพาะที่ “ร้านกาแฟ”  แม้ต่างศาสนาก็สามารถเข้ามาในร้าน และเป็นแหล่งที่ผู้คนในชุมชนต้องมาพบปะกันเป็นประจำทุกเช้า



          ชุมชนตลาดคลองสวนแห่งนี้จากการบอกเล่าของบรรพบุรุษสืบต่อกันมา ได้ใจความว่า สร้างขึ้นประมาณก่อนพุทธศักราช 2444 โดยชาวจีนกลุ่มหนึ่ง ที่มีนางเป๋า นางเหล็ง นางวาล เป็นเจ้าของ โดยใช้ชื่อว่าตลาดสามพี่น้อง ณ บริเวณเดียวกับตลาดคลองสวนในปัจจุบัน ซึ่งสภาพตลาดในขณะนั้นเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว   เสาของอาคารใช้ไม้จากต้นหมาก   ที่เรียกกันว่า “เหลาชะโอน “ และทางเดินเป็นดิน  ต่อมาได้สร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เมื่อประมาณ พุทธศักราช 2477 จากตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาถึงชื่อตลาดเก่าคลองสวน 100 ปีแห่งนี้ ได้ความว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดที่ติดริมน้ำ และบริเวณหัวมุมตลาดซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด โดยมีคลองสำคัญ คือ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระยานาคราช โดยจะมีเรือสัญจรไปมากันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการเรียกขานตลาดแห่งนี้จนติดปากมาถึงปัจจุบันว่า “ตลาดคลองสวน”


           ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นศูนย์รวมของการติดต่อทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนของ     ชาวบ้านในย่านเปร็ง หลวงแพ่ง ลาดกระบัง บางพลี ลาดขวาง ท่าถั่ว บางบ่อ หนามแดง บางเตย มาตั้งแต่สมัย 100 ปีที่ผ่านมา โดยใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการติดต่อทำมาค้าขาย ซึ่งในขณะนั้นตลาดแห่งนี้   เต็มไปด้วยการจราจรทางน้ำที่ประกอบไปด้วยเรือแจว  เรือพายจำนวนมาก ถึงขนาดต้องจอดซ้อนกัน 3-4 แถว แต่ละลำบรรทุกสินค้านานาชนิดเป็นจำนวนมาก มาจำหน่ายและแลกเปลี่ยน นอกจากสินค้าที่จำหน่ายทางน้ำแล้วนั้น ยังมีสินค้าที่นำมาจำหน่ายในอาคารไม้ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันอยู่หลายชนิด เช่น กล้วย หมาก พลู  ขนมหวาน ข้าวสาร กาแฟ และร้านขายยาแผนโบราณ


           ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมาของชาวจีน   ชาวพุทธ และอิสลาม อย่างผสมกลมกลืน โดยมีจุดศูนย์รวมของผู้คนในสมัยนั้น เช่น โรงมหรสพ หรือ  ที่เรียกว่า “วิก”  โรงฝิ่น และร้านกาแฟ  หรือสภากาแฟ  ซึ่งอยู่ภายในตลาด  ทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นั่นคือ การแสดงอุปรากรจีน หรืองิ้ว ซึ่งเป็นการแสดงประจำปีของชาวตลาด คลองสวน ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา จวบจนถึงปัจจุบัน

โรงลิเกในปัจจุบัน

           ทั้งนี้ในชุมชนตลาดคลองสวนนั้นยังมีแหล่งรวบรวมจิตใจของชาวบ้านแถวนี้ คือ วัดคลองสวน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดต้องข้ามสะพานมา ในปัจจุบันมีการตัดถนนเข้าถึงวัดแล้ว โดยชาวบ้านจะใช้วัดในการจัดกิจกรรมต่างๆ

วัดคลองสวน

           จากการเดินดูความเป็นอยู่ในปัจจุบันของชาวบ้านในชุมชนตลาดนั้น ซึ่งตอนนี้ตลาดคลองสวนได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ในวันหยุดนั้นจะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวมากมาย ทำให้ชาวบ้านในตลาดต่างเปิดร้านขายของ ซึ่งชาวบ้านดั้งเดิมนั้นจะทำการเปิดขายของหน้าบ้านของตัวเอง บางบ้านยังขายของที่เป็นของเก่าดังเช่นอดีตทำกิจการอย่างเช่นเดิมๆ เช่น ร้านตัดผม  บางบ้านขายของที่เป็นของสมัยใหม่ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีผู้คนภายนอกเข้ามาทำการค้าขายโดยการเปิดเป็นร้านด้านริมแม่น้ำ ทำให้เกิดความคึกคัก โดยร้านค้าส่วนมากก็จะขายอาหารการกินซึ่งเป็นอาหารยุคก่อน บ้างก็เป็นอาหารยุคปัจจุบัน  ขายของเล่นของใช้ต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินกับการเดินชมซื้อของและกินอาหารในบรรยากาศที่เป็นอาคารเก่า ในขณะเดียวกันวันธรรมดาที่ไม่มีผู้คน บางร้านก็จะเปิดบางร้านก็จะปิดกลายเป็นชุมชนที่สงบไม่มีความวุ่นวาย

วันที่ไม่มีคน บรรยากาศเงียบเหงา ชาวบ้านอยู่ในบ้าน

           ภายในชุมชนตลาดคลองสวนนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นบ้านเก่าดั้งเดิมของที่นี่ ภายในมีการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนตลาดคลองสวน มีการแสดงโมเดลให้เห็นภาพรวมชุมชนทั้งหมดในสมัยก่อนให้เห็นความสวยงามของสมัยก่อน มีการแสดงสิ่งของที่ใช้ในสมัยก่อน เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งนับว่าผู้คนให้ความสนใจและเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว


           ซึ่งทั้งนี้จากการวิเคราะห์อาคารภายในชุมชนนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ อาคารมีความเก่าแก่ตามระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้เกิดมนสเน่ห์ของความสวยงามที่เป็นที่น่าชื่นชมของคนแถวนี้ ในขณะเดียวบางอย่างที่ชำรุดทรุดโทรม ต้องทำการดูแลซ่อมแซม ก็ได้มีการนำเอาวัสดุแบบใหม่เข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ทั้งนี้เองเราควรที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทำให้สิ่งที่สวยงามยังคงอยู่ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาอย่างเหมาะสม อาคารควรมีรูปแบบที่เป็นแบบเดิม ไม่ให้เสียแบบแผนความเป็นชุมชนเก่าไป



             ปัจจุบันชุมชนตลาดคลองสวน อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลเทพราช จังหวัดฉะเชิงเทรา  และเทศบาลตำบลคลองสวน  จังหวัดสมุทรปราการ  ได้สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์บ้านเรือน  รวมทั้งการดำเนินชีวิต ให้คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย  และส่งเสริมให้ ตลาดคลองสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม  นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้ ดูวิถีชีวิต  รวมทั้งอาคารบ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบสมัยรัชกาลที่ ๕  ถือว่าเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้าง  อาคารบ้านเรือนเก่าที่สวยงามและมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตชุมชน และมนสเน่ห์ที่น่าหลงไหลที่หนึ่ง

แผนที่แสดงเส้นทางการมาชุมชนตลาดคลองสวน

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทริปอาจารย์จิ๋ว วันสุดท้าย 01/08/2553

และแล้วก็มาถึงวันสุดท้ายของทริปนี้ เราออกเดินทางจากสุโขทัยในตอนเช้าเพื่อที่จะกลับกรุงเทพ ซึ่งทางผ่านนั้นเราจะแวะที่พิษณุโลก

วัดราชบูรณะ
เป็นวัดที่มีความเก่าแก่เช่นกัน สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ในวัดประกอบด้วย พระอุโสถ ซึ่งเป็นงานก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีการเขียนลวดลายบนผนังเป็นเรื่องรามเกียรติ รอบนอกมีกำแพงแก้วล้อมรอบอยู่ วิหาร ถัดจากพระอุโบสถออกมาโดยมีการเว้นพื้นที่ตรงกลางที่เป็นลานเชื่อมต่อกัน วิหารมีขนาดใหญ่ใช้หลังคาทรงใหญ่ ลดทอนกันลงมา ด้านหลังของวิหารเป็น เจดีย์ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเจดีย์นี้ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งพื้นที่ในบริเวณวัดยังมีการเชื่อต่อจุดต่างๆที่น่าสนใจอีก


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดนี้เป็นวัดสำคัญที่สุดในพิษณุโลกที่คุ้นชื่อกันว่า วัดพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นวัดที่มีการวางผังที่น่าสนใจมาก การวางตัวของแนววิหารคตที่มีถึง 2 ชั้น ล้อมรอบวิหารและเจดีย์ประธาน การใช้มุขหน้าของตัววิหารทิศเชื่อมต่อกับแนววิหารคตแล้วไม่ทำให้เสียพื้นที่ ส่วนพื้นที่เชื่อมต่อของวิหารทิศและวิหารประธานมีความสวยงาม เป็นวัดที่มีการใช้เทคนิคมากมายในการออกแบบ แนวความคิดในการออกแบบทั้งหลายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นความสามารถของช่างในสมัยก่อนที่มีความรู้ ความเข้าใจในงานสถาปัตยกรรมอย่างดีเยี่ยม


วันนี้เราก็จบทริปลงด้วยที่นี่ จากนั้นก็เดินทางกลับ วันนี้ไม่มีบ้านชาวบ้านให้ต้องลงไปดูเหมือนทุกวันแล้วมันเหมือนขาดหายอะไรไปบางอย่าง แต่จากที่ได้ดูมาทั้งหมดแล้วทำให้เข้าใจในความเป็นพื้นถิ่นตลอดเวลาที่เคยดูเป็นเพียงบ้านธรรมดาแต่วันนี้มันมีความสวยงามในตาเราแล้ว ไม่เพียงแต่บ้านชาวบ้านเท่านั้น สถานที่ต่างๆที่ทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นแต่ก่อนด้วยการอธิบายจากอาจารย์ต่างๆโดยเฉพาะอาจารย์จิ๋วทำให้ได้ประโยชน์มากมาย ให้แง่คิดในการทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าเหนื่อยมากแค่ไหนก็คุ้มที่ได้รับมา ขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน สถานที่ทุกที่ ที่ให้ได้ไปเปิดหูเปิดตาในที่ที่ไม่เคยไป ประทับใจกับทริปนี้มากๆครับ เป็นทริปที่คุ้มดีมาก ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากน้อย ทำให้ตัวดำมากมายก็ตาม .....................  ขอบคุณครับ

ทริปอาจารย์จิ๋ว วันที่ 8 31/07/2553

อำเภอกงไกรลาศ จ.สุโขทัย
เป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งละแวกนี้ตามเส้นทางแต่ะละบ้านจะเปิดร้านขายของหน้าบ้าน มีการเปิดช่องเปิดอาคารที่มีความน่าสนใจ หลังคาเป็นทรงปั้นหยา ทั้งนี้ทางด้านหลังยังมีบ้านที่ติดอยู่ริมน้ำ มีความสวยงามมากด้วย


ซึ่งมาในที่นี้เรามากันที่ บ้านญาติของอาจารย์ตี๋ เป็นบ้านไม้เก่า ซึ่งภายในมีการจัดพื้นที่ที่น่าสนใจ ภายในบ้านอากาศเย็นสบายเหมือนติดเครื่องปรับอากาศ มีพื้นที่พักผ่อนที่สวยงามมาก บรรยากาศดีมากๆ พื้นที่เชื่อมต่อกันจากหน้าบ้านไปหลังบ้าน ซึ่งหลังบ้านเป็นสวนขนาดกลาง ใช้พักผ่อนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เราอยู่กันจนถึงเที่ยงคุณป้าอาจารย์ตี๋จึงเลี้ยงอาหารกลางวันพวกเรา ซึ่งทำให้รู้ว่าผัดไทที่นี่อร่อยมาก


สนามบินสุโขทัย & โรงแรมสุโขทัย
เรามาต่อกันที่สนามบินสุโขทัย ซึ่งมากันที่นี่นั้นมีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้เห็นถึงแนวทางการออกแบบอาคารสมัยใหม่โดยการใช้ความรู้ ข้อมูล ของงานเก่ามาประยุกต์ออกแบบงานใหม่ให้มีคุณภาพสวยงาม รู้ถึงการอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ด้วยงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเมื่อเราได้สัมผัสก็ได้เห็นถึงอาคารที่มีลักษณะเหมือนที่เราได้ดูผ่านมาใน 7 วัน มีการหยิบเอาของเก่ามาใช้กับงานใหม่อย่างลงตัว แนวความคิดของการออกแบบสนามบินที่ใช้ความเป็นเมืองสุโขทัยก่อนมาออกแบบทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยก่อนอย่างชัดเจน อย่างโรงแรมเองก็ใช้การวางผังเมืองของสุโขทัยมาวางผังอาคารให้มีลักษณะเหมือนกัน การใช้ช่องเปิดแนวกำแพง การตกแต่งรายละเอียดต่างๆ ดูแล้วมีความน่าสนใจ ควรแก่การศึกษางานทางด้านนี้ เพื่อเผยแพร่ให้คนได้เห็นถึงความสำคัญของไทยเดิม จะได้ไม่ลืมความเป็นไทยของเรา และทำให้ทั่วโลกรู้ว่า เมืองไทยมีดี ซึ่งงานของสนามบินนี้ก็ได้รางวัลมามากเช่นกัน


จากนั้นเรามีเวลาเหลือในช่วงเย็นจึงไปตามเก็บบ้านอีก ซึ่งอาจาจรย์จิ๋วต้องการจะให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความสวยงามตรงนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งช่วงนี้ก็เดินถ่ายภาพเก็บภาพกันจนมืด ถึงได้กลับ

ทริปอาจารย์จิ๋ว วันที่ 7 30/07/2553

วันนี้เป็นอีกวันที่เราจะไปศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมเก่ากันที่เมืองเก่า คือเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ของสุโขทัยอีกเมืองหนึ่ง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร  เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของเมืองศรีสัชนาลัย ถูกวางอยุ่ภายใต้การโอบล้อมของแม่น้ำ มีพระปรางค์เป็นแกนตรงกับวิหาร ซุ้มประตูเป้นซุ้มเตี้ย ให้สัดส่วนเดียวกับกำแพง โดยกำแพงนำศิลาแลงก้อนใหญ่มาทำ ภายในมีพื้นที่เชื่อมต่อที่ต่อเนื่อง ผนังมีการเจาะช่องคล้ายกันกับวัดศรีสวาย จากตัววิหารเดินไปถึงเจดีย์และขึ้นไปบนเจดีย์ได้ อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นลอยตัวที่มีความสวยงามมาก แสดงให้เห็นถึงฝีมือของช่างสมัยก่อนอย่างชัดเจน



วัดโคกสิงคาราม  เป็นวัดที่เหลือแต่ซากผนังกับเจดีย์อยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้ ซึ่งจากซากผนังนี้เห็นได้ว่าเดิมเคยเป็นผนังไม้แต่มีการซ่อมแซมเปลี่ยนใหม่ให้เป็นผนังปูน



วัดกุฏีราย  เป็นวัดที่ไม่ใหญ่มากนักสิ่งที่หลงเหลืออยู่ ก่อด้วยศิลาแลง โครงสร้างเป็นโครงสร้างโค้ง corebell แบบกรีกซึ่งใช้ศิลาแลงก่ออัดแรงให้เป็นซุ้มโค้ง สัดส่วนมีความสวยงาม ทางด้านหน้าโปร่งเชื่อมต่อกับทุ่งอย่างสวยงาม


ศูนย์อนุรักษ์เตาสังคโลก  เป็นพิพิธพัณธ์ที่จัดแสดงเตาเผาในสมัยอดีตที่เรียกกันว่า เตาทุเรียง ซึ่งในนี้เองมีการจัดพื้นที่น่าสนใจ การเชื่อมต่อของพื้นที่ทั้งหมดของอาคาร การใช้ช่องเปิดของอาคาร เส้นทางสัญจรในการชมมีความสวยงาม โดยมีการใช้รูปแบบของสุโขทัยในการออกแบบอาคารทั้งหมด มีส่วนของโครงสร้างหลังคาที่ใช้โครงสร้างพิเศษดูแล้วเข้ากันลงตัวกับอาคารอย่างสวยงาม



วัดเจดีย์เก้ายอด  เป็นวัดที่สร้างบนสันเขา เป็นการแก้ปัญหาอาคารที่อยู่บนสันเขาอย่างดี มีการถม ปรับระดับดินที่สวยงาม การใช้ศิลาแลงทำเป็นเส้นระดับทางสัญจรร่วมกับหินที่มีอยู่เดิมอย่างลงตัวสวยงาม เป็นภูมิปัญญาของช่างสมัยก่อนที่มีฉลาดมาก


จากนั้นก็เข้ามาที่ส่วนของกำแพงหลวงอีกที ซึ่งที่นี่ทำให้รู้ถึงการวางผังของเมืองศรีสัชนาลัยอย่างชัดเจนขึ้น การวางผังใช้ความรู้ทางด้านยุทธศาสตร์เข้ามามีส่วนมาก เห็นถึงความฉลาดหลักแหลม รอบคอบของคนสมัยก่อน ทั้งนี้ในส่วนนี้มีวัดที่น่าสนใจอยู่หลายวัดเช่น วัดนางพญา วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดช้างล้อม ซึ่งพื้นที่การเชื่อมต่อภายในแต่ละส่วนมีความสวยงามร่มรื่น มีความเขียวขจีน่าพักผ่อนมาก


ซึ่งวันนี้ ตามเส้นทางภายในอุทยานนั้นเราได้แวะเก็บบ้านชาวบ้านไปเรื่อยๆ ตามแต่อาจารย์จิ๋วจะลง ซึ่งบ้านแถวนี้ก็มีความสวยงามไม่เหมือนกัน

ทริปอาจารย์จิ๋ว วันที่ 6 29/07/2553

เมืองลับแล อุตรดิตถ์
เป็นอีกหนึ่งที่ที่ได้ยินชื่อเสียงมานานแต่ไม่เคยมาเลย มาที่นี่เราเริ่มต้นด้วยการแวะดูบ้านชาวบ้านแบบปกติที่ทำอยู่ทุกวันซึ่งก็มีความน่าสนใจต่างๆกันไป ซึ่งช่วงเช้านี้เราใช้เวลาทั้งเช้าในการเดินทางและศึกษาบ้านชาวบ้าน


วัดดอนสัก  เป็นสถานที่สำคัญในวันนี้ที่เราตั้งใจจะมากันเพราะว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ยาวนาน อีกทั้งวันนี้พวกเรายังมาถวายไฟพรรษา เพราะช่วงที่เรามากันนี้เป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี ก็อิ่มบุญกันไปถ้วนหน้า ศาลาที่เรานั่งกันก็มีความสวยงาม มีการใช้ช่วงพาดกว้างที่น่าศึกษา วิหารของวัดนี้มีความเก่าแก่มาก มีความสวยงามด้วยการใช้สัดส่วนที่ลดทอนกัน เนื่องจากวิหารตั้งอยู่บนเนิน การลดระดับลงทางด้านล่างที่มีความสวยงาม จุดเด่นของวิหารหลังนี้อยู่ที่หน้าบันและบานประตูแกะสลักซึ่งมีความวิจิตรสวยงามอย่างบอกไม่ถูก เป็นความสวยงามของช่างสมัยก่อนที่น่ายกย่องมาก นอกจากนี้บริเวณรอบวัดยังมีความร่มรื่น ทางด้านหลังมีหอไตรเก่าซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้ว ดูแล้วสวยงามมากทีเดียว


จากนั้นเราก็ออกเดินทางดูบ้านชาวบ้านอีกในช่วงเวลาที่เหลือทั้งหมด ทำให้ในวันนี้เห็นบ้านเยอะพอสมควรในเมืองลับแล มีหลายหลังที่มีความน่าสนใจ แต่ก็มีฝนตกลงมาบ้างทำให้ลำบากกันบ้างในบางช่วง ซึ่งก็ดูเท่าที่สามารถดูได้