วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ชุมชนตลาดคลองสวน


        
         ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ เป็นตลาดเก่าแก่ ตั้งสมัยรัชกาลที่ ๕  “คลองสวน” เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ในการเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ามากรุงเทพฯ  ซึ่งในอดีตการเดินทางโดยเรือจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด  หากต้องการเดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพฯ จะต้องใช้เรือเมล์ขาวของนายเลิศ ซึ่งมีอยู่เพียงลำเดียว  โดยรับคนจากประตูน้ำท่าถั่ว  จังหวัดฉะเชิงเทรา  ผ่านตลาดคลองสวน เข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพฯ  ด้วยเหตุนี้ ตลาดคลองสวนจึงเป็นจุดแวะพัก และเป็นศูนย์รวมของชุมชน  โดยเห็นได้จาก สิ่งก่อสร้างต่างๆ  เช่น โรงเจ  วัด  และสุเหร่า ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยจีน  ไทยพุทธ  และไทยมุสลิม  อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน  เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม  ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน  วิถีชีวิตของชาวคลองสวนจึงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและตลาดแห่งนี้ยังเป็นจุดนัดพบของผู้คนต่างๆ เข้ามานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด  ทัศนคติ  หรือประสบการณ์ชีวิต  โดยเฉพาะที่ “ร้านกาแฟ”  แม้ต่างศาสนาก็สามารถเข้ามาในร้าน และเป็นแหล่งที่ผู้คนในชุมชนต้องมาพบปะกันเป็นประจำทุกเช้า



          ชุมชนตลาดคลองสวนแห่งนี้จากการบอกเล่าของบรรพบุรุษสืบต่อกันมา ได้ใจความว่า สร้างขึ้นประมาณก่อนพุทธศักราช 2444 โดยชาวจีนกลุ่มหนึ่ง ที่มีนางเป๋า นางเหล็ง นางวาล เป็นเจ้าของ โดยใช้ชื่อว่าตลาดสามพี่น้อง ณ บริเวณเดียวกับตลาดคลองสวนในปัจจุบัน ซึ่งสภาพตลาดในขณะนั้นเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว   เสาของอาคารใช้ไม้จากต้นหมาก   ที่เรียกกันว่า “เหลาชะโอน “ และทางเดินเป็นดิน  ต่อมาได้สร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เมื่อประมาณ พุทธศักราช 2477 จากตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาถึงชื่อตลาดเก่าคลองสวน 100 ปีแห่งนี้ ได้ความว่า ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดที่ติดริมน้ำ และบริเวณหัวมุมตลาดซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด โดยมีคลองสำคัญ คือ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระยานาคราช โดยจะมีเรือสัญจรไปมากันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการเรียกขานตลาดแห่งนี้จนติดปากมาถึงปัจจุบันว่า “ตลาดคลองสวน”


           ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นศูนย์รวมของการติดต่อทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนของ     ชาวบ้านในย่านเปร็ง หลวงแพ่ง ลาดกระบัง บางพลี ลาดขวาง ท่าถั่ว บางบ่อ หนามแดง บางเตย มาตั้งแต่สมัย 100 ปีที่ผ่านมา โดยใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการติดต่อทำมาค้าขาย ซึ่งในขณะนั้นตลาดแห่งนี้   เต็มไปด้วยการจราจรทางน้ำที่ประกอบไปด้วยเรือแจว  เรือพายจำนวนมาก ถึงขนาดต้องจอดซ้อนกัน 3-4 แถว แต่ละลำบรรทุกสินค้านานาชนิดเป็นจำนวนมาก มาจำหน่ายและแลกเปลี่ยน นอกจากสินค้าที่จำหน่ายทางน้ำแล้วนั้น ยังมีสินค้าที่นำมาจำหน่ายในอาคารไม้ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันอยู่หลายชนิด เช่น กล้วย หมาก พลู  ขนมหวาน ข้าวสาร กาแฟ และร้านขายยาแผนโบราณ


           ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมาของชาวจีน   ชาวพุทธ และอิสลาม อย่างผสมกลมกลืน โดยมีจุดศูนย์รวมของผู้คนในสมัยนั้น เช่น โรงมหรสพ หรือ  ที่เรียกว่า “วิก”  โรงฝิ่น และร้านกาแฟ  หรือสภากาแฟ  ซึ่งอยู่ภายในตลาด  ทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นั่นคือ การแสดงอุปรากรจีน หรืองิ้ว ซึ่งเป็นการแสดงประจำปีของชาวตลาด คลองสวน ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา จวบจนถึงปัจจุบัน

โรงลิเกในปัจจุบัน

           ทั้งนี้ในชุมชนตลาดคลองสวนนั้นยังมีแหล่งรวบรวมจิตใจของชาวบ้านแถวนี้ คือ วัดคลองสวน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดต้องข้ามสะพานมา ในปัจจุบันมีการตัดถนนเข้าถึงวัดแล้ว โดยชาวบ้านจะใช้วัดในการจัดกิจกรรมต่างๆ

วัดคลองสวน

           จากการเดินดูความเป็นอยู่ในปัจจุบันของชาวบ้านในชุมชนตลาดนั้น ซึ่งตอนนี้ตลาดคลองสวนได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ในวันหยุดนั้นจะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวมากมาย ทำให้ชาวบ้านในตลาดต่างเปิดร้านขายของ ซึ่งชาวบ้านดั้งเดิมนั้นจะทำการเปิดขายของหน้าบ้านของตัวเอง บางบ้านยังขายของที่เป็นของเก่าดังเช่นอดีตทำกิจการอย่างเช่นเดิมๆ เช่น ร้านตัดผม  บางบ้านขายของที่เป็นของสมัยใหม่ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีผู้คนภายนอกเข้ามาทำการค้าขายโดยการเปิดเป็นร้านด้านริมแม่น้ำ ทำให้เกิดความคึกคัก โดยร้านค้าส่วนมากก็จะขายอาหารการกินซึ่งเป็นอาหารยุคก่อน บ้างก็เป็นอาหารยุคปัจจุบัน  ขายของเล่นของใช้ต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินกับการเดินชมซื้อของและกินอาหารในบรรยากาศที่เป็นอาคารเก่า ในขณะเดียวกันวันธรรมดาที่ไม่มีผู้คน บางร้านก็จะเปิดบางร้านก็จะปิดกลายเป็นชุมชนที่สงบไม่มีความวุ่นวาย

วันที่ไม่มีคน บรรยากาศเงียบเหงา ชาวบ้านอยู่ในบ้าน

           ภายในชุมชนตลาดคลองสวนนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นบ้านเก่าดั้งเดิมของที่นี่ ภายในมีการแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนตลาดคลองสวน มีการแสดงโมเดลให้เห็นภาพรวมชุมชนทั้งหมดในสมัยก่อนให้เห็นความสวยงามของสมัยก่อน มีการแสดงสิ่งของที่ใช้ในสมัยก่อน เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งนับว่าผู้คนให้ความสนใจและเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว


           ซึ่งทั้งนี้จากการวิเคราะห์อาคารภายในชุมชนนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ อาคารมีความเก่าแก่ตามระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้เกิดมนสเน่ห์ของความสวยงามที่เป็นที่น่าชื่นชมของคนแถวนี้ ในขณะเดียวบางอย่างที่ชำรุดทรุดโทรม ต้องทำการดูแลซ่อมแซม ก็ได้มีการนำเอาวัสดุแบบใหม่เข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ทั้งนี้เองเราควรที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทำให้สิ่งที่สวยงามยังคงอยู่ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาอย่างเหมาะสม อาคารควรมีรูปแบบที่เป็นแบบเดิม ไม่ให้เสียแบบแผนความเป็นชุมชนเก่าไป



             ปัจจุบันชุมชนตลาดคลองสวน อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลเทพราช จังหวัดฉะเชิงเทรา  และเทศบาลตำบลคลองสวน  จังหวัดสมุทรปราการ  ได้สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์บ้านเรือน  รวมทั้งการดำเนินชีวิต ให้คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย  และส่งเสริมให้ ตลาดคลองสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม  นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้ ดูวิถีชีวิต  รวมทั้งอาคารบ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบสมัยรัชกาลที่ ๕  ถือว่าเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้าง  อาคารบ้านเรือนเก่าที่สวยงามและมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตชุมชน และมนสเน่ห์ที่น่าหลงไหลที่หนึ่ง

แผนที่แสดงเส้นทางการมาชุมชนตลาดคลองสวน